วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประวัติอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

... 




คัดลอกจาก “ปูชนียบุคคลของชาว มมร. อาจารย์สุชีพปุญญานุภาพ” นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๕ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เผยแพร่ผ่าน ลานธรรมเสวนา อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เกิด ณ ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา (คืออำเภอบางเลนในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐม เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๖๐ ในครอบครัวที่มีอาชีพค้าขายในวัยเด็ก อาจารย์ได้ศึกษาจบชั้นประถมปีที่ ๕ ซึ่งเทียบมัธยมปีที่ ๒ ในสมัยนั้น เมื่อจบการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ได้เข้าเรียนภาษาบาลีที่วัดกันมาตุยาราม กรุงเทพฯ อายุราว ๑๓ ปี ก็กลับไปบรรพชาเป็นสามเณร เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อในทางพระศาสนาต่อไป ณ วัดสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยเป็นศิษย์ของพระปฐมนคราจารย์ (วงศ์ โอทาตวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดสัมปทวน และเจ้าคณะจังหวัดนครปฐมในขณะนั้น แล้วจึงเข้ามาศึกษาเล่าเรียนต่อ ณ วัดกันมาตุยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ จนสอบไล่นักธรรมและบาลีได้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ได้อุปสมบท ณ วัดกันมาตุยาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า สุชีโว หลังจากอุปสมบทได้ ๒ พรรษา ก็สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น มีผู้สอบไล่ ๙ ประโยคได้ ๓ รูป คือ (๑) พระมหาบุญรอด สุชีโว คืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (๒) พระมหาบุญมี อเวรี (สมสาร) วัดบรมนิวาส ภายหลังลาสิกขาและเปลี่ยนชื่อเป็น เชวง สมสาร (๓) พระมหาเช้า ฐิตปญฺโญ (ยศสมบัติ) วัดเขาแก้ว จังหวัดนครสวรรค์ สุดท้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากจะมีความรู้ภาษาบาลีแตกฉานเป็นอันดีแล้ว อาจารย์ยังมีความรู้ในภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาการสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่เป็นว่าภิกษุสามเณรควรจะเรียนรู้ เพื่อประโยชน์แก่การที่จะนำมาประยุกต์กับการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งวิชาการทั้งหลายเหล่านี้ อาจารย์ก็พยายามขวนขวายศึกษาเอาด้วยตนเอง โดยการอ่านตำรับตำราทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่า อาจารย์เป็นพระหนุ่มที่มีหัวก้าวหน้า มีโลกทรรศน์กว้างไกล และมีวิธีการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแนวใหม่ที่ทันสมัย เป็นที่นิยมชมชอบและเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่งประเทศในขณะนั้น ในนามว่า “สุชีโวภิกขุ” ดังที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงอาจารย์ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน (คือเรื่อง เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา เล่ม ๑) ว่า “คุณสุชีพ หรือสุชีโวนั่นแหละ ที่ (เป็นดาวเด่น) เป็นคนแรก (ในยุคนั้น) รุ่นอ่อนกว่าผมหน่อย ๑ เขามีผลงานตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนั้นเขาเป็นผู้นำคนหนุ่มยุวพุทธ ให้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นผู้ก่อหวอด ก่อรากมหาวิทยาลัยสงฆ์วัดบวรฯ ๒ เป็นคนแรกที่เทศน์เป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย เขาจัดให้เป็นพิเศษ มีฝรั่งมาฟังหลายคน ตอนหลังผมเคยไปฟังด้วย เจ้าคุณลัดพลี (พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์) พาไป คุณชำนาญก็เคยพาไปเยี่ยมแกถึงกุฏิ” ๑ ท่านพุทธทาส เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ แก่กว่าอาจารย์สุชีพ ๑๑ ปี ๒ หมายถึง สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย จากประสบการณ์ของอาจารย์เองทำให้เห็นว่า ความรู้ภาษาต่างประเทศและความรู้ในวิชาการสมัยใหม่นั้น เป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ฉะนั้นอาจารย์จึงมีความปรารถนาที่จะให้ภิกษุสมาเณรได้เรียนรู้วิชาการเหล่านี้ เพื่อจะได้เป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ ทันโลกทันเหตุการณ์อันจะทำให้สามารถสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยความปรารถนาดังกล่าวแล้ว อาจารย์จึงได้ริเริ่มสอนภาษาอังกฤษและวิชาการสมัยใหม่บางวิชาที่สามารถสอนได้ด้วยตนเองแก่ภิกษุสามเณรวัดกันมาตุยาราม เป็นการกระตุ้นให้พระหนุ่มเณรน้อยสนใจใฝ่รู้ในวิชาการต่าง ๆ และเห็นคุณประโยชน์ของวิชาการเหล่านั้นในแง่ของการนำมาส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาจารย์ได้เริ่มสอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ อีกบ้าง แก่ภิกษุสามเณรที่สนใจ โดยใช้ชั้นล่างของกุฏิที่พักของอาจารย์นั่นเองเป็นสถานที่เรียน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากพระหนุ่มเณรน้อยไม่น้อย มีผู้มาเล่าเรียนกันมาก ต่อมา ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ ณ ตึกหอสมุดมหามกุฎราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทราบว่าอาจารย์ได้เปิดสอนภาษาและวิชาการสมัยใหม่แก่พระภิกษุสามเณรที่วัดกันมาตุยารามดังกล่าวแล้ว วันหนึ่งท่านจึงได้ปรารภกับอาจารย์ว่า เมื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ทำไมไม่ตั้งเป็นโรงเรียนสอนกันให้เป็นเรื่องเป็นราวเสีย จากคำปรารภของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี )(สุวจเถระ) นี้เอง ที่เป็นแรงกระตุ้นและแรงใจให้อาจารย์เกิดความคิดที่จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ต่อมาเมื่อได้นำความคิดนี้ไปปรึกษากับพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตก็ได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนมาก จิมีติติงอยู่บ้างก็เป็นส่วนน้อย อันเนื่องมาจากยังไม่ค่อยแน่ใจในระบบการศึกษาและวิธีการ ในที่สุดพระเถรานุเถระในคณะธรรมยุตก็ได้มีการประชุมกัน และมีมติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ในนามของ มหามกุฎราชวิทยาลัยอันเคยเป็นสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์มาแต่เดิมแล้ว โดยเรียกว่า “สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แต่ครั้งยังไม่ได้ทรงกรม ในฐานะองค์นายกกรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทรงลงพระนามประกาศตั้ง เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๘ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย จึงเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในประเทศไทย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ก็คืออาจารย์สุชีพ และผู้ที่เป็นแรงผลักดัน และให้การสนับสนุนอย่างสำคัญ จนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (สุวจเถระ) หากขาดแรงสนับสนุนจากพระมหาเถระท่านนี้เสียแล้ว การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ก็คงเป็นไปได้ยาก อันที่จริง ความดำริที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นในประเทศไทยนั้น มิใช่เพิ่งเกิดในครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระดำริไว้เมื่อกว่า ๑๐๐ ปี มาแล้ว โดยทรงพระดำริที่จะใช้พื้นที่บริเวณบางลำพูทั้งเกาะ เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา และการที่พระองค์ทรงจัดตั้ง มหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้น ก็เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของพระพุทธศาสนา หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์นั่นเอง แต่ยังมิทันจะได้ทรงดำเนินการตามพระดำริ ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน ฉะนั้น การจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย หมาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ขึ้นครั้งนี้ จึงเป็นการสานต่อพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นให้เป็นจริงขึ้นนั่นเอง ในระหว่างนี้ อาจารย์ได้เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ ยุวพุทธิกสมาคม โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของอาจารย์ เป็นผู้นำในการจัดตั้ง แล้วยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้จัดตั้งขึ้น ณ วัดกันมาตุยาราม เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๑ และยังคงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญองค์กรหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยสืบมาจนปัจจุบัน เมื่อจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นแล้ว อาจารย์สุชีพซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระศรีวิสุทธิญาณ ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎฯ เป็นรูปแรก อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎฯอยู่ ๕ ปี ได้เป็นผู้วางรากฐานทั้งในด้านวิชาการและการบริหารให้แก่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น ถึงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ อาจารย์ก็ลาสิกขา การลาสิกขาของอาจารย์นับเป็นข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์ เมืองไทยข่าวหนึ่งในยุคนั้น เมื่ออาจารย์ลาสิกขาแล้ว ท่านเจ้าคุณพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส ขณะยังเป็นพระมหาประยูร เปรียญ ๙ ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยต่อมาเป็นรูปที่ ๒ (ต่อมาตำแหน่งเลขาธิการได้เปลี่ยนเป็นอธิการบดี และผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นรูปแรกและรูปปัจจุบัน ก็คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาจารย์ (ประจวบ กนฺตจาโร วัดมกุฎกษัตริยาราม) หลังจากที่ลาสิกขาแล้ว อาจารย์ก็ยังช่วยเหลือกิจการของสภาการศึกษามหามกุฎฯอยู่ตลอดมา โดยการเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษา และเป็นอาจารย์บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนาและศาสนาเปรียบเทียบ อาจารย์ได้เข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงวัฒนธรรม (ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ และยุบเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑) โดยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการ และระหว่างนั้น ได้รับพระราชทานยศในกองทัพเรือเป็น ว่าที่นาวาตรี ต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาได้ลาออกจากกระทรวงวัฒนธรรมแล้วเข้าทำงานในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ในฐานะที่ปรึกษาและต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ ตามลำดับ อาจารย์ได้ทำงาน ณ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อกลางเดือนเมษายน ๒๕๒๐ เมื่อเกษียณอายุจากหน้าที่การงานแล้ว อาจารย์ก็ได้อุทิศชีวิตให้แก่กิจการทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ได้กลับมาช่วยกิจการทางวิชาการของสภามหามกุฎราชวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่ โดยการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นผู้บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนา เป็นกรรมการสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ ก็ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ บรรยายวิชาทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น กิจการทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์ได้เข้ามาช่วยอย่างเต็มตัว หลังจากที่อาจารย์เกษียณอายุแล้ว ก็คือ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) โดยได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการอำนวยการ อาจารย์ต้องดูแลรับผิดชอบกิจกรรมทางวิชาการของ พสล. เป็นส่วนใหญ่ อาจารย์เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการประพันธ์ สามารถประพันธ์ได้ทั้งในเชิงร้อยแก้วและร้อยกรอง ผลงานในทางการประพันธ์ของอาจารย์ จึงมีทั้งเป็นบทกวีความเรียงทางวิชาการ บทความ และนวนิยาย ข้อเขียนของอาจารย์ซึ่งรวมไปถึงบทเทศนา และการบรรยายธรรมด้วย เป็นถ้อยคำสำนวนแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่กะทัดรัด ชัดเจนและมีความไพเราะอยู่ในตัว อาจารย์ได้เริ่มแสดงความสามารถในทางการประพันธ์ และการบรรยายตั้งแต่ยังเป็นสามเณรเปรียญ ผลงานที่โดดเด่นที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักกันทั่งไปในนามว่า “สุชีโวภิกขุ” และตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือความสามารถในการมองและอธิบายพระพุทธศาสนาในแง่มุมที่แปลกใหม่ อันเป็นแง่มุมที่ไม่เคยมีใครมองมาก่อน หรือเป็นแง่มุมที่คนทั่วไปมองไม่เห็น และนำเอาประเด็นที่สำคัญและโดดเด่นของพระพุทธศาสนาในแง่มุมนั้น ๆ ออกมาแสดงให้คนทั่วไปได้รู้จัก ตัวอย่างของผลงานของอาจารย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถดังกล่าวนี้ ก็เช่น หนังสือเรื่อง “คุณลักษณะพิเศษบางประการแห่งพระพุทธศาสนา” (ซึ่งก็มีแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย รวมทั้งบทความและปาฐกถาอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ผลงานที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งของอาจารย์ก็คือการอธิบายพระพุทธศาสนาแนวใหม่ โดยการนำเอาความรู้วิชาการสมัยใหม่ เช่นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ เป็นต้น มาประยุกต์กับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทำให้คนทั่วไปเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ดีและง่ายขึ้น ทั้งทำให้มองคุณค่าของพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาว่ามีความทันสมัย สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสถานการณ์ หากศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การอธิบายพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์ดังกล่าวนี้ ยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า บรรดาศาสตร์หรือวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ ที่กำลังศึกษาหรือตื่นเต้นกันอยู่ในปัจจุบันนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้เคยแนะนำสั่งสอนประชาชนมาแล้วทั้งนั้นในหลักการใหญ่ ๆ ความสามารถในการอธิบายพระพุทธศาสนาแนวใหม่ หรือแนวประยุกต์นี้เอง ที่ทำให้นาม “สุชีโวภิกขุ” ดังกระฉ่อนไปทั่วประเทศ ผลงานของอาจารย์ในด้านนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อเสียงของอาจารย์เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมชมชอบไปทั่วประเทศเท่านั้น แต่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อวงการศึกษาและเผยแผ่พระพุทะศาสนาด้วยเป็นอันมาก เพราะเป็นการจุดประกายแห่งความริเริ่มและความสนใจในการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในวงการศึกษาและวงการนักวิชาการของไทย และในเวลาต่อมาก็ได้มีการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์กันอย่างจริงจัง และกว้างขวางยิ่งขึ้น ผลงานของอาจารย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความริเริ่มในด้านนี้ ก็เช่น ความเรียงเรื่อง “พระพุทธศาสนาในแง่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์”, “พระพุทธศาสนากับสันติภาพของโลก”, “แง่คิดบางประการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” เป็นต้น ผลงานของอาจารย์ด้านนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นการสานต่อพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อีกประการหนึ่งเช่นกัน เพราะพระองค์ทาสงทรงเป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาพระองค์แรกของไทย ที่ทรงริเริ่มการอธิบายพระพุทธศาสนาในแนวประยุกต์ หรือการอธิบายพระพุทธศาสนาให้เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อความเข้าใจของคนร่วมสมัย ดังจะเห็นได้จากงานพระนิพนธ์ของพระองค์ท่าน เช่น พุทธประวัติ ธรรมวิภาค ธรรมวิจารณ์ และธรรมนิพนธ์อื่น ๆ อีกเป็นอันมาก ซึ่งได้ทรงนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นต้น มาประยุกต์ในการอธิบายพระพุทธศาสนา แต่เมื่อสิ้นสมัยของพระองค์ท่านแล้ว แนวพระดำริดังกล่าวนี้ก็ถูกลืมเลือนไป เพราะไม่มีผู้สานต่อ ผลงานที่เป็นการบุกเบิกของอาจารย์อีกอย่างหนึ่งในทางวรรณกรรมและวงการพระพุทธศาสนาของไทย ก็คือการแต่งนวนิยายอิงหลักธรรม ความบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์ริเริ่มงานด้านนี้เกิดขึ้นเมื่ออาจารย์อ่านเรื่อง กามนิต ของ คาล เยลเลรุป ขณะเป็นสามเณรอายุราว ๑๕ - ๑๖ ปี เรื่องนี้เดิมประพันธ์ขึ้นในภาษาเยอรมันและแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาผู้รู้ของไทยได้แปลจากภาษาอังกฤษสู่ภาษาไทยในชื่อว่า กามนิต นวนิยายเรื่องนี้ผู้ประพันธ์ได้อาศัยเรื่องราวจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประกอบกับเรื่องราวจากคัมภีร์ฝ่ายพราหมณ์บ้าง สร้างเป็นเรื่องราวขึ้น โดยมุ่งให้ผู้อ่านได้รับรสทั้งในแง่วรรณกรรม ศาสนาและศีลธรรม ไปพร้อม ๆ กัน อาจารย์เห็นว่าเป็นวิธีการสั่งสอนศีลธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดีวิธีหนึ่ง เมื่ออ่านเรื่องกามนิตในครั้งนั้น อาจารย์มีความประทับใจมากถึงกับตั้งใจไว้ว่า เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนามีความรู้พอ ก็จะแต่งเรื่องทำนองนี้ขึ้นบ้าง ครั้นอายุได้ ๒๒ ปี ขณะยังเป็นพระเปรียญ ๙ ประโยค อาจารย์ก็สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ คือได้แต่งเรื่อง ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ขึ้นและนำลงตีพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ เป็นตอน ๆ เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ นับเป็นผลงานทางนวนิยายอิงหลักธรรม เรื่องแรกของอาจารย์ และของวงการวรรณกรรมไทยด้วย เมื่อจบเรื่องใต้ร่มกาสาวพัสตร์ อันเป็นเรื่องราวของพระองคุลิมาลแล้ว เรื่อง กองทัพธรรม อันเป็นเรื่องของพระสารีบุตร พระธรรมเสนาบดีก็ตามมา และจากนั้นอาจารย์ก็ได้รับการขอร้องให้แต่งเรื่องอื่น ๆ อีกกลายเรื่องตามลำดับ คือเรื่อง ลุ่มน้ำนัมมทา เป็นการอธิบายเรื่องราวความเป็นมาของรอยพระพุทธบาท เรื่อง เชิงผาหิมพานต์ เป็นการสรรเสริญคุณของพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก เรื่อง อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก เป็นเรื่องราวของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก เรื่อง นันทะปชาบดี แสดงเรื่องราวของราชวงศ์ศากยะและความเป็นมาของภิกษุณีในพระพุทธศาสนา ผลงานทางนวนิยายอิงหลักธรรมของอาจารย์ นอกจากจะถือได้ว่า เป็นก้าวใหม่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านวรรณกรรมแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการริเริ่มมิติใหม่ในวงวรรณกรรมของไทยด้วย เพราะหลังจากผลงานชั้นบุกเบิกของอาจารย์ปรากฏสู่บรรณโลกแล้ว ต่อมาไม่นานก็ได้เกิดนวนิยายอิงหลักธรรมโดยนักประพันธ์คนอื่น ๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง จนเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านโดยทั่วไป ผลงานที่ทำให้อาจารย์เป็นบุคคลอมตะตลอดไปในวงการวิชาการทางพระพุทธศาสนาของไทยก็คือ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นการย่อความพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม ให้เหลือเพียง ๕ เล่ม ซึ่งภายหลังได้รวมพิมพ์เป็นหนังสือขนาดใหญ่เล่มเดียวจบ นับเป็นผลงานที่อาจารย์ผู้ริเริ่ม และทำเสร็จเป็นคนแรกในประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาพระไตรปิฎก และศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการช่วยให้คนทั่วไปที่สนใจหรือต้องการจะศึกษาพระไตรปิฎก สามารถอ่านหรือศึกษาได้สะดวกในเวลาอันสั้น ช่วยให้เข้าใจสารัตถะและจับประเด็นสำคัญของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาอ่านพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ซึ่งทั้งยากแก่การทำความเข้าใจและยืดยาวชวนเบื่อสำหรับคนทั่วไป ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกฉานในพระไตรปิฎกและความวิริยะอุตสาหะของอาจารย์ ในอันที่จะสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอีกด้วย งานริเริ่มในทางวิชาการอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์ ที่ควรแก่การบันทึกไว้ในที่นี้ก็คือ พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย-อังกฤษ และ อังกฤษไทย ซึ่งอาจารย์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นเป็นคนแรกในประเทศไทย และได้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ จากนั้นมาก็ได้มีผู้รู้ท่านอื่น ๆ ได้สร้างงานประเภทนี้ขึ้นมาอีกหลายชิ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลดีแก่วงการศึกษาพระพุทธศาสนาของไทยเป็นอย่างมาก นอกจากความริเริ่มในทางการศึกษา การเผยแผ่ และทางวรรณกรรมแล้ว อาจารย์ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกลในทางวิชาการ เพราะในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นนั้น อาจารย์ได้เป็นผู้ชี้นำให้บรรจุวิชาการใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลากรของคณะสงฆ์ และเอื้อประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้พระนักศึกษาได้ศึกษาหลายวิชา เช่น วิชาปรัชญา ตรรกวิทยา ศาสนาเปรียบเทียบ เป็นต้น โดยบรรจุเป็นวิชาบังคับให้พระนักศึกษาได้ศึกษา ตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมา ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาใด ๆ ในประเทศไทยเปิดสอนวิชาเหล่านี้ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้บุกเบิกในการเปิดสอนวิชาดังกล่าวเหล่านี้ในประเทศไทย ต่อมาอีกเกือบ ๒ ทศวรรษ มหาวิทยาลัยของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ จึงได้เริ่มเปิดสอนวิชาเหล่านี้ขึ้น และได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในสมณเพศตลอดมา จนถึงเวลาที่ยังรับราชการอยู่ อาจารย์มักได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนหรือเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปประชุมหรือดูงาน ในด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเซีย ยุโรป และอเมริกา อยู่เสมอ โดยลักษณะส่วนตัว อาจารย์เป็นผู้มีอัทธยาศัยอ่อนน้อม ดำเนินชีวิตแบบสงบและเรียบง่าย มีเมตตากรุณาต่อทุกคน ไม่เบื่อหน่ายในการที่จะให้คำแนะนำหรือปรึกษาในทางวิชาการแก่ศิษย์หรือผู้สนใจ มีวาจาในเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมให้กำลังใจแก่ทุกคนที่มีโอกาสพบปะสนทนาด้วยเสมอ อาจารย์จึงเป็นที่เคารพรักของบรรดาศิษย์และผู้รู้จักคุ้นเคยทั่วไป ผลงานในด้านต่าง ๆ ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เท่าที่สามารถรวบรวมได้ขณะนี้มีดังนี้ ตำรา ๑. พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน (๒๕๐๑) ๒. พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย - อังกฤษ อังกฤษ - ไทย (๒๕๐๔) ๓. ศาสนาเปรียบเทียบ (๒๕๐๔) ๔. ประวัติศาสตร์ศาสนา (๒๕๐๖) ความเรียงทางวิชาการ ๑. อริยสัจคืออะไร (๒๔๘๑) ๒. หลักพระพุทธศาสนา (๒๔๘๙) ๓. ตายแล้เกิด (๒๔๙๒) ๔. วัฒนธรรมวิทยา (๒๔๙๗) ๕. คุณลักษณะพิเศษบางประการแห่งพระพุทธศาสนา (๒๕๐๐) นวนิยายอิงหลักธรรม ๑. ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ (๒๔๘๔) ๒. กองทัพธรรม (๒๔๙๒) ๓. ลุ่มน้ำนัมมทา (๒๕๐๓) ๔. อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก (๒๕๐๕) ๕. นันทะปชาบดี (๒๕๐๗) ปาฐกถา ๑. งานค้นคว้าภาษาบาลีในตะวันตก (๒๔๘๔) ๒. อาณาจักรตัวอย่าง (๒๔๘๙) ๓. วิจารณ์หลักพระพุทธศาสนา ๑๒ ข้อ ของนายคริสตมัส ฮัมเฟรยส์ (๒๔๘๙) ๔. พระพุทธศาสนา (๒๔๙๑) ๕. ธรรมะชั้นใน (๒๔๙๑) ๖. สิ่งที่อาจเป็นไปได้ (๒๔๙๒) ๗. แง่คิดบางประการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (๒๔๙๒) ๘. ความเหนื่อยใจ (๒๔๙๒) ๙. พระพุทธศาสนากับสันติภาพของโลก (แสดงเป็นภาษาอังกฤษ ๒๔๙๓) ๑๐. ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (๒๔๙๓) ๑๑. สหประชาชาติกับพุทธศาสนิกชน (๒๔๙๓) ๑๒. พระพุทธศาสนาในแง่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ (๒๔๙๔) ๑๓. ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ (๒๔๙๔) ๑๔. ธรรมะกับโรคภัยไข้เจ็บ (๒๔๙๔) ๑๕. การทำความเข้าใจในพระพุทธศาสนา (๒๕๐๒) ๑๖. ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท (๒๕๐๓) ๑๗. คำบรรยาย คำถาม คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (๒๕๓๑) บทความและบันทึกเบ็ดเตล็ด ๑. ฐานะที่ไม่ผิด (๒๔๘๕) ๒. การกลับตัว (๒๔๘๖) ๓. เสกคาถา (๒๔๙๑) ๔. ชุมนุมบันทึกเบ็ดเตล็ด ๖๕ เรื่อง (๒๔๙๔) ๕. ชุมนุมบทความสั้น ๆ (ภาค ๑ รวม ๑๕ เรื่อง) (๒๔๙๔) ๖. ธรรมะของพระพุทธเจ้า (รวม ๕ เรื่อง) (๒๔๙๔) ๗. พระเวสสันดรทำไม่ถูกจริงหรือ (๒๔๙๕) ๘. คติธรรม ๕ เรื่อง นิทานและสุภาษิต ๑. ประชุมนิทานสุภาษิต (รวม ๕ เรื่อง ) (๒๔๙๓) ๒. สุภาษิตสั้น ๆ เรื่องแปล ๑. พระสูตรมหายาน ปรัชญาปารมิตาหฤทยสูตร และ สุขาวสดีวยูหสูตร (แปลจากภาษาสันสกฤต - พ.ศ. ๒๔๙๔) อ่าน สุชีพ ปุญญานุภาพ : อะไหล่ที่หาไม่ได้ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก พระพุทธ4พระธรรม4พระสงฆ์4อุบาสก4อุบาสิกา4ปกิณกะ4• พุทธประวัติ• ทศชาติชาดก4• ชาดก ๕๔๗ เรื่อง4• พระประทีปแห่งเมตตา• ๓ เดือนก่อนปรินิพพาน• บุคคลผู้เป็นเอกหาได้ยากในโลก• พระสัมมาสัมพุทธเจ้า• พระปัจเจกพุทธเจ้า• พระพุทธเจ้าในนิกายเถรวาทและมหายาน• พุทธกิจ ๔๕ พรรษา• พุทธการกธรรม• พุทธธรรมดา ๓๐ ทัศ• พระไตรปิฎก4• พระอภิธรรม4• ศีล4• บทสวดมนต์4• พระคาถาชินบัญชร4• มิลินทปัญหา• พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์• ปกิณกธรรม4• พระอสีติมหาสาวก• เอตทัคคะ ภิกษุ4• เอตทัคคะ ภิกษุณี4• ประวัติอาจารย์ สายพระป่า• ประวัติอาจารย์ สายพระบ้าน• คำสอนอาจารย์• ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช• พระประวัติสมเด็จพระสังฆราช4• สมณศักดิ์• พระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน• บันทึกลับ ภิกษุนิรนาม• ภาพในหลวงกับพระสุปฏิปันโน• เอตทัคคะ(อุบาสก)4• ประวัติอุบาสกคนสำคัญ4• ธรรมะโดยอุบาสก4• พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว• เอตทัคคะ (อุบาสิกา)4• ประวัติอุบาสิกาคนสำคัญ4• คำสอนโดยอุบาสิกา4• นิทานเซน• โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน• โอวาทท่านจี้กง• ระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ• ศาสนพิธี• สารบัญปัญหาจากการปฏิบัติ• สารบัญปัญหาจากการดูจิต• พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์4• เตมีย์ชาดก• ชนกชาดก• สุวรรณสามชาดก• เนมิราชชาดก• มโหสถชาดก• ภูริทัตชาดก• จันทกุมารชาดก• นารทชาดก• วิทูรชาดก• เวสสันดรชาดกเรียงตามนิบาตเรียงตามชื่อความรู้เรื่องพระไตรปิฎกความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์ความหมายของพระไตรปิฎกความเป็นมาของพระไตรปิฎกคำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อลำดับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเนื้อหาโดยสังเขปของพระไตรปิฎกแก่นธรรมจากทีฆนิกายความคิดของคนที่ไม่เข้าถึงสภาวะธรรมความสำคัญและการรักษาพระไตรปิฎกคำนำพระอภิธรรม คืออะไรปรมัตถธรรมบัญญัติธรรมปรมัตถธรรม อยู่เหนือการสมมุติประวัติพระอภิธรรมพระอภิธัมมัตถสังคหะการสวดพระอภิธรรมในงานศพประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรมสำนักศึกษาพระอภิธรรมผู้เรียบเรียงบรรณานุกรมเบญจศีล ข้อห้ามและศีลของสมณเพศ 4บทสวดทำวัตรเช้าบทสวดทำวัตรเย็นบทสวดมนต์เจ็ดตำนานบทสวดมนต์สิบสองตำนานบทสวดถวายพรพระอานิสงส์ของการสวดพระพุทธคุณบทสวดมนต์ต่าง ๆบทสวดพระอภิธรรมในงานศพฉบับอ.พร รัตนสุวรรณฉบับพระพิมลธรรม (อาสภเถระ)ฉบับ 'ฉันทิชัย'ฉบับสิงหฬฉบับ สงฺขฺยาปกาสกฎีกาความหมายของธรรมปฏิจจสมุปบาทตำนานพระปริตรการอ่านภาษาบาลีคำถามเกี่ยวกับบทสวดมนต์อกุศลกรรมบท ๑๐4สมถะกรรมฐาน-อัปปนาสมาธิภพภูมิ 31 ภูมิกิเลส ๑๐อนุสสติ ๑๐กังขาเรวตะกาฬุทายีกุมารกัสสปะกุณฑธานะจุลปันถกะทัพพมัลลบุตรนันทะ (พุทธอนุชา)นันทกเถระปิณโฑลภารทวาชะปิลินทวัจฉะปุณณมันตานีบุตรพากุละพาหิยทารุจีริยะภัททิยกาฬิโคธาบุตรมหากัจจายนะมหากัปปินะมหากัสสปะมหาโกฐิตะมหาปันถกะโมคคัลลานะโมฆราชะรัฐปาละราธะราหุลเรวตขทิรวนิยะลกุณฎกภัททิยะวักกลิวังคีสะสาคตะสารีบุตรสีวลีสุภูติโสณกุฏิกัณณะโสณโกฬิวิสะโสภิตะอนุรุทธอัญญาโกณทัญญะอานนท์อุบาลีอุปเสนวังคันตบุตรอุรุเวลกัสสปะนางสุชาดานางวิสาขามิคารมาตานางขุชชุตตรานางสามาวดีนางอุตตรานันทมาตานางสุปปวาสาโกลิยธีตานางสุปปิยาอุบาสิกานางกาติยานีนางนกุลมาตาคหปตานีนางกาฬีอุบาสิกาสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)สมเด็จพระสังฆราช (มี)สมเด็จพระสังฆราช (สุก)สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)สมเด็จพระสังฆราช (นาค)กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์สมเด็จพระสังฆราช (สา)กรมพระยาวชิรญาณวโรรสกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราช (แพ)กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด)สมเด็จพระสังฆราช (อยู่)สมเด็จพระสังฆราช (จวน)สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น)สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์)สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ)พ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะอนาถปิณฑิกคฤหบดีจิตตคฤหบดีหัตถกอุบาสกเจ้ามหานามศากยะอุคตคฤหบดีอุคคฤหบดีสูรัมพัฏฐเศรษฐีบุตรหมอชีวกโกมารภัจจ์นกุลปิตาคฤหบดีอุบาสกเปลี่ยน รักแซ่อ.เสถียร โพธินันทะอ.พร รัตนสุวรรณอ.สุชีพ ปุญญานุภาพศ.นพ.อวย เกตุสิงห์เซียนสู พรหมเชยธีระอ.บุญมี เมธางกูร• สันตินันท์• สู พรหมเชยธีระ• ดังตฤณ• เสถียร โพธินันทะ• สุชีพ ปุญญานุภาพ• วศิน อินทสระ• น.พ.กำพล พันธ์ชนะ• เขมานันทะ• ไชย ณ พล• กำพล ทองบุญนุ่ม• บุญมี เมธางกูร• ท่านอื่น ๆพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีพระเขมาเถรีพระอุบลวัณณาเถรีพระปฏาจาราเถรีพระธัมมทินนาเถรีพระนันทาเถรีพระโสณาเถรีพระสกุลาเถรีพระภัททากุณฑลเกสาเถรีพระภัททากปิลานีเถรีพระภัททากัจจานาเถรีพระกีสาโคตมีเถรีพระสิงคาลมาตาเถรีกี นานายนกนิษฐา วิเชียรเจริญแนบ มหานีรานนท์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ม.จ.พูนพิศมัย ดิสกุลสิริ กรินชัยพิมพา วงศาอุดม 1พิมพา วงศาอุดม 2• กี นานายน• สุจินต์ บริหารวนเขตต์• แนบ มหานีรานนท์• Nina Van Gorkom• อัญญมณี มัลลิกะมาส• อุบาสิกาละมัย เขาสวนหลวง• อุบาสิกาพิกุล มโนเจริญ• พญ.อมรา มลิลาความมหัศจรรย์ของธรรมชาติการกำเนิดชีวิตและจักรวาลชีวิตกับจักรวาลความรู้กับสภาวะแห่งการรู้ธรรมะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อย่างไรเต๋าแห่งฟิสิกส์พุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์สมาธิคำนำห้ามฉันเนื้อ ๑๐ อย่างศีล ๑๐ ข้อของสามเณรศีล ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ4ครุธรรม ๘ ของภิกษุณีคำนำ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุ มิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สรุปอกุศลกรรมบท ๑๐ปาราชิกสังฆาทิเสสอนิยตกัณฑ์นิสสัคคิยปาจิตตีย์ปาจิตตีย์ปาฏิเทสนียะเสขิยะสารูปโภชนปฏิสังยุตตธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ปกิณสถะธิกรณสมถะ

ชีวประวัติอันน่าอัศจรรย์ของ อ.เสถียร โพธินันทะ

...





โดย อ. สุชีพ ปุญญานุภาพ
เผยแพร่ผ่าน ในลานธรรมเสวนา
กระทู้ที่ 003399 โดยคุณ : pug [ 11 ก.ย. 2544 ]
file เสียง
 https://bit.ly/2BWubBP

ท่านสาธุชนทั้งหลาย

ผมมาทราบอย่างกระทันหัน มาถึงเมื่อกี้นี้ว่า ท่านกิตติวุฑโฒ ปรารถนาจะพบ เมื่อมนัสการท่าน ท่านก็บอกโดยปัจจุบันทันด่วนว่าท่านปรารถนาจะให้ผมมาเล่าถึงชีวประวัติของท่านเสถียร โพธินันทะ เรื่องชีวประวัติของเสถียร โพธินันทะ นี้นับว่าน่าอัศจรรย์ ที่ว่าน่าอัศจรรย์นั้นก็เพราะว่าคล้ายกับเป็นผู้ที่ได้ตั้งปณิธานเอาไว้ในอดีตที่จะมาทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าตลอดชีวิตของบุคคลผู้นี้ แม้จำเดิมแต่เมื่อเยาว์วัย ความโน้มเอียงต่างๆ ก็เป็นไปในทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เสถียร โพธินันทะเป็นบุตรชายคนเดียวของ คุณมาลัย โพธินันทะ แต่ว่ามีพี่หญิง 2 คน ซึ่งได้แต่งงานเป็นฝั่งฝาไปแล้ว และโดยเหตุที่เป็นบุตรชายคนสุดท้อง จึงได้รับการตามใจทะนุถนอมจากมารดาเป็นพิเศษ

เมื่อเยาว์วัยนั้นได้เข้าเรียนที่โรงเรียนราษฎรเจริญ ข้าง ๆ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ต่อมามารดาก็ส่งไปเรียนโรงเรียนมัธยมวัดบพิธพิมุข ได้ศึกษาอยู่ในโรงเรียนมัธยมวัดบพิธพิมุขจนกระทั่งสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 5 ก็ลาออก การลาออกนี้เพราะ ไม่ชอบสอบไล่ แล้วก็ต้องการจะเป็นอิสระในการค้นคว้าวิชาความรู้ ในระหว่างที่เป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดบพิธพิมุข เงินค่าขนมที่มารดาให้ก็ได้เก็บเอาไว้เป็นส่วนหนึ่ง คือกินส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไปซื้อหนังสือทางพระพุทธศาสนาบรรดาที่มีพิมพ์ขายในท้องตลาด ซึ่งก็มีหนังสือพระไตรปิฎกแปล ในสมัยนั้นโรงพิมพ์ไทยได้จัดพิมพ์ขึ้น ประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่เป็นพระราชพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติมี 4 ฉบับ ก็ทุ่มเงินไปซื้อหมด ประวัติศาสตร์ของญวน ของพม่า ของจีน อะไรเท่าที่จะมีหาอ่านก็ได้ใช้เงินค่าขนมนี่ไปซื้อ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของชาติไทย ก็พยายามสืบสาวราวเรื่องมาโดยการซื้อหนังสือซึ่งชื่อเดอะไทยลุคของหมอบ๊อชซึ่งมีชื่อแปลเป็นภาษาไทย เสถียร โพธินันทะ ก็ไปซื้อเอามา เพราะฉะนั้นแม้จะอายุยังน้อยและเรียนเพียงชั้นมัธยม เพื่อนฝูงชอบมานั่งล้อมฟังเล่าอะไรต่ออะไร คือแกมีความจำดีมาก อ่านนวนิยายเรื่องต่างๆ แล้วก็เอามาเล่าถ่ายทอดให้เพื่อนฟัง เรื่องจีนบ้าง เรื่องไทยบ้าง เพื่อนก็มานั่งล้อมฟังเป็นกลุ่ม ๆ ไปที่บ้านใคร พวกเด็ก ๆ ก็มาตีวงให้เล่าเรื่อง เช่น ผู้ชนะสิบทิศ ได้ใช้สำนวนเหมือนผู้แต่ง ให้เห็นภาพเห็นอะไร

คราวนี้เมื่อจวนจะออกจากโรงเรียน เผอิญตอนนั้นผมยังบวชอยู่ บ้านของเสถียร โพธินันทะอยู่ในตรอกอิสรานุภาพ ก็นับว่าใกล้กับวัดกัญมาตุยาราม เผอิญผมมีลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งอยู่โรงเรียนเดียวกัน เสถียรก็ไปขอให้ลูกศิษย์ผมนี่พามาพบ ขอให้พามารู้จักพระครู และเมื่อวันที่มพบนั้นเป็นเรื่องน่าแปลก ก็คือว่ามาตั้งปัญหาในพระสูตร ถามอยู่สองสามสูตรคือโปษปาถสูตร ในทีฆนิกายเล่ม 9 กับอัคคัญญสูตร ในทีฆนิกายปาฎิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่ม 11 ตอนนั้นก็อายุประมาณ 16 ปี ย่าง 17 แล้วผมก็เห็นว่าเด็กคนนี้น่าอัศจรรย์มาก มีการค้นคว้ามีความสนใจ ในพระพุทธศาสนามาก ซึ่งแต่ละวันนั้น คือเช้าถึงเย็นถึง พอเช้ารับประทานอาหารที่บ้านแล้วก็มาที่วัด พอกลางวันกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน บ่ายมา เย็นกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน ค่ำมา เป็นไปอย่างนี้ หนักเข้า รับประทานอาหารที่บ้าน แล้วตอนเช้ามาที่วัดก็รับประทานอาหารกลางวันที่วัดด้วย เป็นลูกศิษย์วัดไปในตัว แล้วไปไหนซึ่งผมเป็นพระ ไปสวดมนต์ที่ไหน เสถียร โพธินันทะก็ถือพัตรตามเป็นลูกศิษย์ไป หรือไปเทศน์ที่ไหน ก็ถือคัมภีร์เทศน์ตามไป

ตอนนั้นความรุ้แกดีมากอยู่แล้ว แต่ว่าภาษาจีนกลางยังพูดไม่ได้ พูดภาษาจีนแต้จิ๋วพูดได้ดีมาก เพราะอยู่ในที่แวดล้อมที่เป็นชาวจีน ตลอดจนบิดาก็มีเชื้อจีน แต่ข้อที่น่าจะกล่าวถึงก็คือ มารดาของเสถียร โพธินันทะเป็นผู้ที่มีความสามารถเลี้ยงดูบุตรธิดา คือเมื่อตั้งท้องเสถียร ฯ บิดาก็เดินทางไปต่างประเทศ และก็ไปถึงแก่กรรมในประเทศจีน อาศัยที่มารดาเป็นผู้มีความสามารถปกครองดูแลร้านค้า ทำให้เป็นที่สงบเย็นใจของลูกจ้าง เป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย จึงสามารถตั้งเนื้อตั้งตัว ดูแลบุตรธิดาและให้การศึกษาเป็นอย่างดี แต่ว่าเสถียร โพธินันทะปรารถนาจะศึกษาภาษาไทยเพียงเท่านี้ และในระหว่างที่อายุ 15 – 16 ปีนั้นก็ได้มีการติดต่อกับชาวจีนที่ตั้งสมาคมพระพุทธศาสนา คือสมาคมที่มีนามว่า พุทธบริษัทสยามจีนประชา ชื่อในภาษาจีนนั้นใช้คำว่าตงก๊กกุฮะเกรียงซู่เสีย สมาคมที่ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา จากการคบค้าสมาคมกับผู้ใหญ่ ทำให้เสถียร มีความรู้ในฝ่ายมหายานเป็นอย่างดียิ่ง ได้ไปอภิปรายในภาษาจีนกับผู้ที่มีความรู้พระพุทธศาสนามหายาน ที่เป็นชาวจีนโดยเฉพาะท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้คือ นายแพทย์ต้นม่อเซ้ง ซึ่งท่านก็ได้รู้ประวัติของเสถียร โพธินันทะดีเพราะว่าในตอนนั้นเสถียร โพธินันทะมีความเข้าใจพระพุทธศาสนาด้านเดียว คือด้านมหายาน สวดมนต์ในภาษาจีน มีกี่สูตรสวดได้หมด และก็รู้คำแปลด้วย ซึ่งปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรที่ภาษาจีนเรียกสั้น ๆ ว่าซุนเซ็งหรืออนุตายุสูตร หรือ วัชระโสตาสูตรก็รู้หมด ซึ่งรู้ตั้งแต่ก่อนที่จะมาติดต่อกับผม

ทีนี้เมื่อมาติดต่อแล้ว ผมก็เห็นว่าเด็กผู้นี้เป็นอัจฉริยะ และในขณะนั้นผมมีหน้าที่ที่จะจัดเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือวารสารธรรมจักษุ ก็เลยให้หัดเขียนบทความลงในธรรมจักษุ และเมื่อเขียนตั้งแต่เล่มแรกแล้วก็ได้เขียนติดต่อมาเป็นเวลาหลายปีทีเดียว ไม่เคยได้หยุดเลย ได้เขียนลงบางเล่ม เป็นการแสดงความสามารถให้ปรากฏ ถ้าจะกล่าวถึงว่าได้สามารถทำงานในทางพระพุทธศาสนาก็เมื่ออายุ 17 ปี เขียนบทความลงในหนังสือตั้งแต่อายุ 18 ปี

ได้รับเชิญจากพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ไปแสดงปาฐกถา ยังนุ่งกางเกงขาสั้น แต่งตัวเป็นยุวชน แสดงปาฐกถา คนแก่คนเฒ่าแปลกใจกันใหญ่ว่าเด็กนุ่งกางเกงขาสั้นคนนี้ทำไมพูดเก่งนัก เป็นคนมีความจำดี จริงๆ แล้วมีอะไรตรงกันข้ามกับผมบางประการ คือว่า เสถียร โพธินันทะ เกลียดวิชาคำนวณ ไม่ชอบเลย เรื่องตัวเลข สมมุติว่าไปซื้อของ เอาเงินให้เขา 20 บาท ราคา 6 บาทแล้วทางร้านค้าควรจะทอนสักเท่าไร ไม่อยากคิด เสียสมอง ทอนให้เท่าไรก็ใส่กระเป๋าเลย เกลียดคำนวณมาก เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ไม่ชอบจะไปสอบไล่กับใคร อยากจะมาทางพุทธให้มาก ๆ ทีนี้ผมเกลียดประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยชอบที่จะจำ รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่อยากจะจำ ไม่อยากจะอ่าน ไม่อยากจะสะสมตำราประวัติศาสตร์ เสถียร ไม่อยากจะสะสมตำราประวัติศาสตร์ เสถียร โพธินันทะทุ่มเงินสะสมตำราประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเราก็ตรงกันข้าม เมื่อตรงกันข้าม เขามีวิธีบังคับผมให้สนใจประวัติศาสตร์ บอกขอให้อยู่เฉย ๆ เท่านั้น เอาหนังสือมาอ่านให้ฟัง ขอให้อยู่เฉย ๆ อ่านประวัติศาสตร์ซึ่งหลวงจีน…….เขียนบันทึกการเดินทางของพระถังซัมจั๋งไปสืบอายุพุทธศาสนาในประเทศจีนซึ่งนายคงเหรียญ สีบุญเรืองแปล ซึ่งผมไม่ได้อ่านเลยตลอดเล่มจนจบ เสถียรอ่านให้ฟังจนจบ บังคับให้ฟัง แล้วทีนี้ยังมีประวัติศาสตร์พม่า ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ของพม่า มีชื่ออะไร เรียงลำดับครองราชย์ได้กี่ปีแล้วมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งเสียกรุง อุตส่าห์มานั่งเล่าให้ฟัง หรือประวัติศาสตร์ของประเทศญวน ซึ่งชื่อนั้นจำยากแสนยากอย่าแสนสาหัส เช่นชื่อของพระสาวก คำที่เปรียบเทียบกัน อย่างว่าโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้ในภาษาสันสกฤต ตรงกับสำเนียงจีนว่า………ตรงกับสำเนียงญวณว่า……..

นี่เสถียรเป็นคนไปเที่ยวจำ ติดต่อกับพระญวนก็ไปสังเกตพระญวนองค์ไหนสวดมนต์เก่ง ทำพิธีกงเต็กเก่ง ของเล่นเมื่อเป็นเด็ก ๆ ชอบวาดการ์ตูน – พระพุทธรูป ชอบเล่นแต่งตัวเป็นพระจีน พระญวนอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำพิธีกงเต็ก ไปอ้อนวอนขอใส่หมวกมาลา 5 แฉก จะทำพิธีบ้าง

ถ้าพระจีนๆองค์ไหนสวดมนต์เก่งแล้วก็ทำพิธีมุตระคือท่ามืออย่างในมหายานเขา ทำอย่างนั้น ๆ นี่จำเอามาหมด เพราะฉะนั้นแนวโน้มที่เป็นมาแต่เด็ก ๆ นั้นก็เป็นไปในทางพระพุทธศาสนา เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะเห็นได้ว่าบุคคลผู้นี้ได้มีพื้นความรู้ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน
ถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็เป็นพื้นฐานของการอ่านหนังสือและก็เที่ยวซักถาม อย่างวัดจักรวรรดิ์นี่เมื่อยังเป็นเด็ก ๆ ก็มาเที่ยวถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ รู้จักกับพระองค์นั้นองค์นี้ และเมื่อไปรู้จักกับผมที่วัดดัญมาตุยารามแล้วก็เรียกว่าติดต่อโดยใกล้ชิด อายุ 20 ปีก็ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาของยุวพุทธิกะสมาคม คือ เสถียร โพธินันทะนี้ พอไปติดต่อที่วัดแล้วก็วิ่งเต้นไปติดต่อชวนคนโน้นชวนคนนี้เข้าวัด ตั้งยุวพุทธิกะสมาคมขึ้น ยุวพุทธิกะสมาคมก็เชิญเป็นกรรมการที่ปรึกษา จากการที่เขียนหนังสือ พ.ศ. 2491 อายุ 22 ก็พิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ อาณาจักรมคธในครั้งพุทธกาล และต่อมาก็ออกพิมพ์หนังสือเรื่องอื่นๆ อีก

ต่อมาก็ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา คือมหามกุฎราชวิทยาลัย ทีนี้จะย้อนกลับไปถึงในสมัยที่ติดต่อใหม่ ๆ อีกสักครั้งหนึ่ง คือจะให้มองเห็นทั้งสภาพความเป็นเด็กและสภาพความเป็นผู้ใหญ่ที่มาอยู่ในบุคคลเช่นนี้ สภาพความเป็นเด็ก ๆ คือ ยังกลัวผี เช่นว่าตามผมไปวัดเทพกลับค่ำหน่อยก็เดินผ่านทางหน้าวัด ตอนนั้นอายุ 17 พอถึงโบสถ์ เข้ามากอด มันมืด พอพ้นที่มืดแล้วถามว่าทำไม บอกว่ากลัวผี แต่ความรู้ความสามารถตอนนั้นดี แล้วทีนี้เราคงจะเห็นว่า มีทั้งสภาพความเป็นเด็กและสภาพความเป็นผู้ใหญ่อยู่ในตัวพร้อมกันซึ่งไม่น่าจะถืออะไร

และก็ไม่ใช่เป็นข้อบกพร่องอะไรด้วย เป็นเรื่องที่พวกเราแม้เป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนก็ยังกลัว เพราะในสมัยนั้นเมื่อได้มีการติดต่อกับเสถียรนี่ ก็เป็นคนไปเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพระไทยกับพุทธสมาคมจีน ผมไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมจีน เสถียรก็แปลเป็นภาษาจีน ผมพูดเป็นภาษาไทย แปลจนผมฟังภาษาจีนออกมาทีเดียว และคุณหมอตันม่อจึ๊งมาพูดที่ยุวพุทธิกะสมาคม

พูดเป็นภาษาจีน เสถียรก็แปลเป็นภาษาไทย ผู้ที่มีความรู้ในประเทศจีน เดินทางมา เสถียรก็เป็นล่ามแปล และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ถ้าความรู้ไม่ค่อยดีนัก ล่ามคนสำคัญของเรานี่ก็ช่วยแปลตะล่อมเสียจนดี ฟังแล้วแสดงว่าผู้พูดนี่เก่งมาเหมือนกัน แต่ว่าล่ามของเราตะล่อมคือ อันไหนไม่ชอบ ไม่แปล โดยวิธีการเช่นนี้ ในที่สุดก็ออกโรงแสดงปาฐกถาเอง แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ภาษาจีนกลางดีนัก

ด้วยความรักพระพุทธศาสนา อยากจะค้นทั้งฝ่ายไทย ฝ่ายจีนและฝ่ายไทยนี่อยากจะรู้อะไร ก็ขอให้ผมอ่านภาษาบาลีเพื่อจะจำภาษาบาลีคือไม่ยอมจำภาษาไทยอย่างเดียว ท่องภาษาบาลีกำกับด้วย เพราะจะให้มั่นคง เพราะฉะนั้นจะสังเกตเวลาไปแสดงปาฐกถาที่ไหน ถ้าเป็นที่สลักสำคัญก็ร่ายภาษาบาลีให้ผู้ฟังได้ฟังเลยทีเดียว เพราะว่าต้องการให้เป็นหลักฐาน เพราะฉะนั้นในการที่อยากจะรู้ภาษาจีนกลางนั้น ผมได้ทราบจากคุณหมอต้นม่อจึ๊งว่าไปเรียนที่โรงเรียนเผออินอยู่ 2 ปี ซึ่งตอนนั้น ผมก็ไม่ทราบว่าไปเรียนที่ไหน

แต่มาบอกว่าตอนค่ำไปเรียนภาษาจีน เรียนอยู่ไม่นานเลย มีความรู้ภาษาจีนกลาง อ่านวรรณคดีจีน ซึ่งความจริงวรรณคดีจีนเป็นหนังสือที่ยากแสนยาก แต่บุคคลผู้นี้อ่านวรรณคดีได้เข้าใจ และก็ตีความได้ด้วย การไปไต่ถามท่านผู้นั้นผู้นี้ โดยเฉพาะคุณหมอตันม่อจึ๊งนี่มาก ลือไปถึงเมืองจีนคือในไต้หวัน ไต้หวันใช้ภาษาจีนกลางกัน ลือกันว่า เสถียร โพธินันทะ ในภาษาจีนชื่อเม่งเต็กนะครับ เม่งแปลว่า สว่าง แปลว่าแจ่มใส เต็กแปลว่าปัญญา ชื่อก็เหมือนกับสภาพความเป็นจริงว่าปัญญาแจ่มใส ปัญญากระจ่างแจ้ง ลือไปถึงเมืองจีนว่าบุคคลคนหนึ่งเป็นอุบาสก ชื่อว่าเม่งเต็ก พูดภาษาจีนกลางได้เหมือนคนจากปักกิ่ง พูดได้ชัดเจนมาก เพราะว่าได้สนใจจริงๆ

ในระยะหลังที่สมณะจากประเทศจีนมาหรือจากฮ่องกงมา เสถียร โพธินันทะก็เป็นสื่อกลางที่นำเข้าไปพบพระเถระผู้ใหญ่ของไทย ชีวิตจิตใจของบุคคลผู้นี้คือความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา เคยกล่าวว่าตัวเขานั้นเสียชีวิตไม่เป็นไรหรอก ขอให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองก็พอ แล้วสมมุติว่าใครจะมาทำลายพระพุทธศาสนา ถ้าเขาเสียสละชีวิตแล้วพระพุทธศาสนาไม่ถูกทำลาย เขายินดีที่จะสละ ผมก็เคยเรียนท่านกิตติวุฑโฒ ทางโทรศัพท์บอกว่าบุคคลผู้นี้ชาติพระพุทธศาสนา คือพระพุทธศาสนาเป็นชาติของเขา ถือชาติพระพุทธศาสนา มีความจงรักภักดีอย่างบริสุทธิ์ใจต่อพระพุทธศาสนาและบทความที่เขียนนี้หนักไปในทางประวัติศาสตร์ มาภายหลังก็เนื่องจากความจำเป็นบังคับ

เมื่อเขียนตำราเกี่ยวกับตัวเลขของ พ.ศ. ของ ค.ศ. อะไรที่จะต้องใช้การคำนวณ ก็ถูกความจำเป็นบังคับ มาสนใจวิชาคำนวณเพิ่มขึ้น และเมื่อได้เป็นอาจารย์สอนที่มหามกุฎราชวิทยาลัยแล้ว ก็ได้สร้างตำราขึ้น คำบรรยายประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานั้นได้เคยพิมพ์แจกเป็นเล่มขนาดใหญ่และยังมีหนังสือที่แต่งไว้ในธรรมจักษุอีกมากมาย

ถ้าจะเรียงเป็นเล่มก็คงจะเป็นเล่มขนาดใหญ่มากและเป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะทำความดีอย่างเดียว เช่นว่าเมื่อเงินเดือนออกมา เดือนละ 50 บาท จะต้องสละไปเพื่อปล่อยปลา ต่อมาเงินเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ 100 บาท ไปซื้อปลาปล่อยทุกเดือน จนกระทั่ง คนเรือจ้างนี้ได้ทราบจากคนใกล้ชิดมาเล่าให้ฟัง คนเรือจ้างที่เคยแจวพาไปปล่อยกลางน้ำเอา 2 บาท ไม่เอาสตางค์ บอกว่าขอให้ผมออกแรงแจวเรือให้ก็แล้วกัน ก็ได้ปล่อยมาเรื่อยๆ และที่วัดพระเชตุพนซึ่งก็ปรากฏว่ามีโจรผู้ร้ายไปลักตัดพระเศียรพระพุทธรูปในวิหารคต

เสถียร โพธินันทะ ก็เดือดร้อน เป็นผู้ที่พยายามวิ่งเต้น ตัวเองมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายเท่าไรก็สละ ไปจ้างช่างซ่อมให้ดีขึ้น แล้วไปชักชวนเพื่อนฝูงให้ช่วยกันซ่อมคือว่าไม่เพิกเฉย ถ้าไปวัดพระเชตุพนก็มีคนตามเป็นกลุ่มใหญ่ทีเดียว บางทีตั้ง 150 คน ไปฟังบรรยาย เพราะว่าบรรยายได้ชัดเจนเหมือนอย่างไปรู้ไปเห็นเหตุการณ์มาด้วยตนเอง ไปที่อยุธยา ไปบรรยายเรื่องอยุธยา เจ้าหน้าที่ที่นั่นยอมแพ้ เล่าเหมือนกับเคยเห็นเหตุการณ์หรือเกิดทันสมัยอยุธยา

ลำดับได้หมด จำได้หมด คุณงามความดีที่ประกอบไว้นี้ ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ใจและความตั้งใจที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่เคยอุปสมบท เคยอุปสมบทนอกพรรษาที่วัดกัญ เมื่อ พ.ศ. 2492 – 2494 แต่ว่าเจตนานั้นไม่ใช่อุปสมบทอยู่ตลอดไป เจตนาอุปสมบทเพียงเพื่อให้สมบูรณ์ในฐานะที่เป็นกุลบุตรไทย เพราะฉะนั้นสักสองสามเดือนก็ลาสิกขาออกมา แล้วได้ไปติดต่อกับศูนย์ค้นคว้าพระพุทธศาสนาวัดสระเกศ พยายามติดต่อกับผู้นั้นผู้นี้ที่มีทุนทรัพย์ให้ไปช่วยสร้างคัมภีร์ที่แปลอะไรต่างๆ ก็ได้แปลคัมภีร์อรรถกถาบ้าง อะไรบ้าง ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศ ยังมีพระชนม์อยู่และก็ในภายหลังนอกจากบรรยายที่สภาการศึกษามหามกุฎวิทยาลัย ในวันอาทิตย์สอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แล้วก็ยังได้ไปติดต่อกับท่านกิตติวุฑโฒ คือใครก็ตาม ถ้าทำความดีเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาแล้ว เสถียร โพธินันทะ จะตามถึงเลย

มีใครหรืออะไรที่ไหนที่มีข่าวเกี่ยวกับการทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาแล้ว บุคคลผู้นี้จะให้ความร่วมมือและก็เป็นที่น่ายินดี เคยมาเล่าให้ผมฟัง ก็ขอขอบพระคุณท่านกิตติวุฑโฒไว้ในที่นี้ด้วย ที่ท่านได้มีเมตตากรุณาแก่เสถียร โพธินันทะ เป็นพิเศษ มีอะไรต้องมาเล่าให้ฟังว่าท่านได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างมากมาย เสถียร โพธินันทะก็ไปร่วมมืออย่างนั้นอย่างนี้ ในความเป็นส่วนตัว เป็นคนสะอาดมาก และก็ตอนแรกไม่ค่อยเท่าไหร ตอนที่อายุน้อยๆ อยู่ พออายุมาก ๆ เข้าคือไม่อยากจะไปรับประทานอาหารที่ไหน ตกลงต้องกลับมารับประทานอาหารที่บ้าน มีความเป็นอยู่ง่ายๆ ที่สุด ไม่ยอมใส่เสื้อนอก

ตอนหลัง ตอนแรกที่มีรูปถ่ายนี่ยังมีการใส่เสื้อนอก ต่อมาไม่ได้ใส่เสื้อนอก ใครจะเชิญหรือไม่เชิญไปในงานที่ไหน บอกถ้าไปไม่ใส่เสื้อนอก ใครจะเชิญหรือไม่เชิญไปในงานที่ไหน บอกถ้าไปไม่ใส่เสื้อนอกนะ ก็มีคนรับอาสาไปตัดเสื้อทั้งชุดเลย ตัดก็ไม่ใส่ คือเป็นอยู่อย่างง่ายๆ เพราะฉะนั้นถือหลักอันนี้มาก็ไปแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยหรือ ในสังคมใหญ่ๆ ที่ไหนก็แล้วแต่ ไปอย่างคนธรรมดาสามัญ ใส่เสื้อเชิ๊ตตัวหนึ่ง เสื้อฮาวาย ใครจะฟัง หรือไม่ฟังก็ตามใจ แต่ก็ปรากฏว่ามีคนฟังมากมายก่ายกอง ถ้าวันไหนเสถียร โพธินันทะจะพูด คนก็ไปรอคอยฟังกัน

เพราะว่าพูดเหมือนอย่างรถไฟด่วน คือว่าไม่หยุดตามสถานีต่างๆ เลยเข้าใจว่า ปฏิภาณปรีชาจะแล่นเร็วมาก และก็บางทีพอจบปาฐกถาแล้ว คนถามถามไปได้สองสามคำ รู้แล้วว่าจะถามอะไร ตอบแล้ว ยังถามไม่จบ ตอบแล้ว เป็นผู้ที่มีความสามารถถึงขนาดนี้
ทีนี้ผู้มาติดต่อกับทางพระในฝ่ายเถรวาทกับมหายาน คือเดิมนั้นเข้าใจมหายานด้านเดียว เมื่อมาเข้าใจทั้งสองด้านและก็ด้วยการอ่านของเขาอย่างจริงจัง

การอ่านนี้เป็นที่น่าแปลกครับ คือตามธรรมดา หนังสือบางเล่มคนอ่านตั้งสองสามเดือน เสถียร โพธินันทะ อ่านสองสามชั่วโมงแล้วเล่าให้ฟังได้ คืออ่านแล้วเก็บหมด ถ้าชอบแล้ว อ่านหลายๆ จบแล้วทีหลังไม่ต้องอ่านอีก เล่าได้หมด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามีความพอใจหรือสนใจในเรื่องไหนแล้วต้องให้แตกหักเลย

เรียนโหราศาตร์อยู่พักหนึ่ง คือเรื่องโหราศาสตร์ก็มาถึงชีวิตเกี่ยวกับพวกนี้ด้วย รู้ตัวเหมือนกันว่าอายุไม่ยืน เสร็จแล้วก็ทิ้ง ไปเรียนไสยศาสตร์ ไปหาอาจารย์ เรียนรู้หมด เสร็จแล้วไปขอคืนวิชา เรียนไสยศาสตร์มาแล้วไปขอคืนวิชา เอาแต่พุทธศาสตร์ คือเรียนเพื่อจะเอามาประดับความรู้ อยากจะเรียนรู้อะไรต้องรู้แตกหัก ใครถามที่โน่น ถามที่นี่ มีอาจารย์ที่ไหน เข้าหาหมด ไม่มีความท้อแท้หรือขาดความเพียรในการศึกษา พยายาม เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่าเป็นผู้มีความรู้รอบตัวหลาย ๆ ด้าน

เมื่อมานึกถึงว่าบุคคลเช่นนี้ได้เกิดมาเพื่อทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา คือมารดานั้นไม่ค่อยทราบหรอก ว่าไปทำอะไรบ้าง เช้าก็หายไปค่ำก็กลับมา และก็แต่งตัวไม่ดีอะไรนัก ไม่ไปยุ่งอะไรกับใคร มารดาเข้าใจไม่ออกว่าจะเป็นผู้ได้รับความนิยมยกย่องจากพุทธบริษัทถึงขนาดนี้ ในวันสุดท้ายก่อนที่จะถึงแก่กรรมนั้น ก็ยังไปที่สภาการศึกษา เพื่อจะไปบรรยายวิชาเป็นประจำวันกับพระ ก็บังเอิญวันนั้นไม่ได้สอน ก็ยังไปยืนคุยกับพระ กลับมาก็ไปคุยกับพระที่วัดกัญแล้วก็ไปไหนต่อไหนอีก พอกลับเข้ามานอนที่บ้าน

ตอนเช้าเด็กไปเรียกก็ไม่ตื่น เด็กก็มาบอกกับมารดา มารดาก็เข้าไป ก็เห็นนอนหลับดีอยู่ แต่ว่าตัวแข็งไป มารดาก็ตกใจ ไปตามแพทย์มา แพทย์ก็ว่าสิ้นใจไปเสียแล้ว โรคหัวใจวาย แต่ว่าหน้าตาอิ่มเอิบเหลือเกิน ผมเองมาทราบเมื่อวันเสาร์คือถึงแก่กรรมคืนวันศุกร์ ก็ต้องถือว่าตามแบบราชการถึงแก่กรรมในคืนวันเสาร์ เพราะว่าตั้งแต่ 24 นาฬิกาล่วงมาแล้วก็ถือว่าเป็นวันเสาร์ ก็คงจะถึงแก่กรรมประมาณ 1 นาฬิกา วันเสาร์ คือ ตี 1 ความจริงวันนั้นผมไม่มีธุระจะไปวัดบวรนิเวศ แต่พอเที่ยงกว่าๆ มีธุระต้องไปวัดบวรนิเวศ พระก็บอก คือ มารดาด้วยความตกใจก็หยิบอะไรไม่ถูก ก็ไม่ได้บอกไปทางโทรศัพท์ ผมมารู้ที่วัดบวรนิเวศ ผมก็โทรศัพท์มาที่บ้านมารดา มารดาจะรีบเผาให้เร็วที่สุด เพราะว่าท่านเป็นผู้เดียว และก็มีญาติพี่น้องมากก็จริง แต่ว่าการที่จะมาดูแลศพตลอดไปเป็นเวลานานนั้นก็เป็นภาระของท่าน

พอโทรศัพท์เสร็จก็ไปที่บ้าน ตอนนั้นเอาศพมาที่นี่แล้ว ก็ไปบอกกับมารดาว่าถ้าอย่างนั้นอยู่เฉย ๆ ก็แล้วกัน ไม่ต้องเป็นภาระอะไรทั้งหมด เพราะว่าในฐานะที่เป็นอาจารย์ในสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัยก็เป็นเจ้าภาพดูแลให้ แล้วก็เนื่องจากเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยศาสนา ก็มีลูกศิษย์หลายวัด ผมก็เลยขอให้พระที่ท่านสำเร็จการศึกษาอย่างที่วัดนี้ ท่านมหาสอน ขันติโพธิ ศาสนศาสตร์บัณฑิต ท่านก็ได้รับภาระเป็นอย่างดียิ่ง ดูแลในการศพนี้ ท่านมหาสุชิน สำเร็จศาสนศาสตร์บัณฑิตและก็ไปเรียนต่อได้มหาบัณฑิตจากประเทศอินเดีย จากวัดกัญก็มาช่วยอีกองค์หนึ่ง ก็นับว่าท่านทั้งสององค์นี้เป็นผู้มาช่วยและก็ท่านพระครูที่ท่านดูแลฌาปนกิจสถานแห่งนี้ก็มีเมตตากรุณาอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่เดิมนั้นว่าจะนำศพมาสวดทีนี่สัก 3 คืน แล้วก็นำไปสวดต่อที่วัดเทพศิรินทร์ ได้เห็นความเมตตากรุณาของทางวัดนี้ จึงในที่สุดตกลงกันว่าจะสวดตลอดไปที่วัดนี้ มีคนมาจองการสวด ท่านจะเห็นว่าต่อเนื่องกันไปเกือบไม่ขาดสาย ตกลงว่าเราจะปิดศพในวันที่ 10 ม.ค. เลี้ยงพระตอนกลางวันแล้วก็เชิญศพไปบรรจุที่ วัดเทพวันที่ 1 เมษายนตั้งศพที่เมรุวัดเทพ วันที่ 2 เมษายน พระราชทานเพลิงศพ การที่มีการพระราชทานเพลิงก็เพราะว่า เสถียร โพธินันทะ ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสำนักวัฒนธรรม ทางจิตใจในสมัยที่มีสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับการพระราชทานเพลิงศพและเมื่อข่าวการถึงแก่กรรมของเสถียร โพธินันทะ แพร่ไปในที่ต่างๆ ก็มีทั้ง โทรเลข มีทั้งจดหมาย มีทั้งผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด มาร่วมบำเพ็ญกุศล แม้สมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จมาทรงเป็นเจ้าภาพการสวดในคืนวันที่ 13 ธันวาคม และก็ทรงรับศพของ เสถียร โพธินันทะ ไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพราะได้เห็นคุณงามความดีของบุคคลเช่นนี้ โดยเฉพาะท่านกิตติวุฑโฒ ท่านอยู่ในต่างจังหวัด พอท่านทราบข่าว ท่านก็รีบเดินทางกลับและมาเยี่ยมศพ เป็นการแสดงเมตตากรุณาอย่างสูงต่อผู้ล่วงลับไป ในฐานะที่เสถียร โพธินันทะ เป็นผู้ที่ได้อยู่ใกล้ชิด เป็นลูกศิษย์รับใช้ ที่ว่าเป็นลูกศิษย์รับใช้คือขอให้ทำงานอะไรก็มาเถิด ไม่ต้องเขียนเอง เสถียร โพธินันทะ รับเป็นเลขานุการให้ถึงขนาดนั้น ด้วยความปรารถนาดีอย่างเดียวว่าให้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาแล้วบุคคลผู้นี้ยินดีที่จะกระทำเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ผมจึงรู้สึกว่าเมื่อได้เห็นความเมตตา กรุณา และความปรารถนาดีของท่านทั้งหลายแล้วก็มีการปลื้มปิติ

ผมจึงรู้สึกว่าเมื่อได้เห็นความเมตตา กรุณา และความปรารถนาดีของท่านทั้งหลายแล้วก็มีการปลื้มปิติ ท่านมารดาของเสถียร โพธินันทะ ก็ไม่นึกว่าบุตรของตนจะเป็นผู้ได้รับเกียรติ ได้รับความเมตตากรุณาจากท่านทั้งหลายถึงเพียงนี้ และได้มีบางท่านอุตส่าห์เอาเทปมาเปิดทุก ๆ วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม เรื่อยมา คือว่าไปพูดที่ไหน ติดใจก็ไปอัดเทปไว้เรื่อย มีโอกาสก็เก็บเสียงเอาไว้แล้วก็พยายามนำมาเปิด เปิดทุก ๆ วัน
นี่เป็นการแสดงน้ำใจที่มีต่อผู้ล่วงลับไป อย่างนี้ผมจึงขอถือโอกาสนี้ขอบพระคุณแทนเสถียร โพธินันทะ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอบพระคุณแทนมารดาของเสถียร โพธินันทะ ผู้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และมีความปลื้มปีติสำนึกในพระคุณของท่านทั้งหลาย และเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าความดีที่ทุกคนทำไว้นั้นไม่ตาย ความดีนั้นส่งผลดีจริง แม้ในขณะที่ยีงมีชีวิตอยู่ จะไม่มีใครมาชุมนุมมากมายเพื่อให้เกียรติแก่เสถียร โพธินันทะ เหมือนอย่างในสมัยที่ถึงแก่กรรมไปแล้วนี้

แต่ว่าตามที่ประชาชนไปฟังปาฐกถา แต่ละครั้งนับจำนวนหลาย ๆ ร้อยอย่างเนืองแน่นก็เป็นการแสดงว่าเสถียร โพธินันทะ ซึ่งได้เกิดมาดีแล้ว ได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด เป็นคนกลัวบาปนัก พยายามที่จะทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ให้เต็มที่นั้น ได้ทำหน้าที่ของเขาสมบูรณ์แล้ว แม้ชีวิตอันสั้นคือเพียงอายุ 38 ปีเท่านั้น เสถียร โพธินันทะ เกิดวันที่ 18 พฤษภาคม 2472 ถึงแก่กรรมวันที่ 10 ธันวาคม 2510 ที่แล้วมานี้ ก็นับปีได้ 38 ปี 38 ปีนี้แม้ชีวิตจะต้องจากไปในท่ามกลางความเสียหาย แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นพยานให้ปรากฎก็คือน้ำใจของท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

น้ำใจของพระเถรานุเถระที่สำแดงออกแก่เสถียรผู้ล่วงลับไปนี้คงจะเป็นเครื่อให้กำลังใจแก่บุคคลที่อยุ่ข้างหลังว่าผู้ที่ทำความดีนั้นจะไม่ไปเปล่าเลย จะได้รับความนิยมยกย่อง จะได้รับเกียรติอย่างดีที่สุด ผมขอกล่าวประวัติสั้นๆ เพียงเท่านี้ เพราะกำลังจะรวบรวมเรื่องราวบุคคลผู้นี้ที่ได้ทำคุณงามความดีไว้และก็พิมพ์เป็นเล่มแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ และหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้อ่านรายละเอียดในเล่นนั้น ขอขอบคุณ


คัดจากหนังสือ เวียนว่ายตายเกิด ….
บรรยายโดย อาจารย์ เสถียร โพธินันทะ
สำหรับท่านที่สนใจหนังสือ และเทป ของท่านอาจารย์เสถียร โพธินันทะมีที่วัดมหาธาตุ และร้านขายเทปธรรมะ ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านเป็นผู้แตกฉาน รู้ลึก ศึกษาจริงจังมาก เป็นครูของพระ และฆราวาส

เทปของท่านน่าฟังมาก ( แต่เสียงอาจไม่ชัดนัก เพราะระบบการอัดสมัยนั้นยังไม่ดีนัก.. แต่มีประโยชน์มาก หากต้องการความรู้ทางพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ) โดยเฉพาะ ชุด สารพันปัญหา มี 3 ชุดใหญ่ ( ถ้าจำไม่ผิด ) ท่านตอบปัญหาธรรมะได้เฉียบขาดมาก ทั้งบรรพชิต และฆราวาส จะถามในแง่มุมไหนท่านไม่มีจนเลยสติปัญญา ปฏิภาณท่านเฉียบแหลมมากครับ

ปล. ผมฟังมาหมดแล้ว…จึงขอบอก..
http://www.dharma-gateway.com/ubasok/satien